ไม่อยาก “เบรกแตก”..ต้องอ่าน!
ทุกคนต่างรู้ดีว่าระบบเบรกที่ดี ย่อมหมายถึงความปลอดภัยของทุกชีวิตบนท้องถนน แต่ในทางกลับกัน เวลาเข้าศูนย์หรือตรวจเช็ครถตามระยะ เรามักตรวจสอบเครื่องยนต์ เกียร์ และล้อ โดยมองข้ามระบบเบรกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามักไม่ใส่ใจในการเลือกน้ำมันเบรกที่ใช้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับขี่อย่างปลอดภัย
เพราะน้ำมันเบรก ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดกำลัง เมื่อเราเหยียบเบรก แรงดันที่เหยียบจะถูกถ่ายทอดผ่านน้ำมันเบรกเข้าไปในระบบห้ามล้อทั้ง 4 ล้อ ทำให้ความเร็วของรถช้าลง หรือหยุดตามแรงกดที่ต้องการ ซึ่งน้ำมันเบรกที่ดี นอกจากจะเป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลังแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติที่ดีอื่นๆ อีกด้วย
1. เป็นตัวหล่อลื่นส่วนต่างๆ ในระบบเบรก ช่วยป้องกันการสึกหรอ
2. ไม่เป็นอันตรายต่อชิ้นส่วนที่เป็นโลหะในระบบหรือลูกยางต่างๆ
3. คงสภาพได้นาน แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสิ่งแวดตามล้อมธรรมชาติ เช่นความชื้น
4. มีจุดเดือดสูงและไม่ระเหยง่าย ทนต่อแรงดันจากแรงเหยียบอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี
จากคุณสมบัติของน้ำมันเบรกดังกล่าว จุดเดือดของน้ำมันเบรกถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเนื่องจากเวลาเหยียบเบรกที่ความเร็วสูงหรือบรรทุกหนัก อุณหภูมิที่ผ้าเบรกและจานเบรกจะสูงมาก ความร้อนดังกล่าวจะถ่ายเทมายังน้ำมันเบรกด้วย ถ้าน้ำมันเบรกมีจุดเดือดต่ำก็จะระเหยและกลายเป็นไอ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลังในระบบเบรกได้ จึงทำให้เบรคไม่อยู่ หรือที่เรียกว่าเบรกแตกนั่นเอง
ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงควรตรวจเช็คระดับของน้ำมันเบรกอยู่เป็นประจำว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากน้ำมันเบรกมากเกินขีดสูงสุด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีน้ำเข้าไปปนเปื้อน แต่ถ้าน้อยเกินขีดต่ำสุด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการรั่วซึมในระบบเบรก หรืออาจเกิดจากผ้าเบรกสึก ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลง ทำให้เกิดอาการเบรกไม่อยู่ได้
นอกจากตรวจระดับน้ำมันเบรกเป็นประจำแล้ว ยังควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุกๆ 1-2 ปี แม้ว่าจะไม่มีการรั่วหรือลดระดับลงก็ตาม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุกะทันหัน เบรกจะยังตอบสนองได้เป็นอย่างดี
อีกข้อควรระวังก็คือ ไม่ควรนำน้ำมันเบรกต่างยี่ห้อ หรือต่างมาตรฐานกันมาใช้งานผสมกัน เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณสมบัติของน้ำมันเบรกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนยี่ห้อ หรือใช้น้ำมันเบรกที่มาตรฐานสูงขึ้น แนะนำให้ทำการล้างระบบเบรกก่อนทำการเปลี่ยนถ่าย
ข้อมูลจาก : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ www.mgronline.com